RSS

วิจัยในชั้นเรียน เรื่องพัฒนาพฤติกรรมความรับผิดชอบการเข้าห้องเรียน

03 พ.ย.

                                                               รายงานวิจัยในชั้นเรียน

เรื่อง การพัฒนาพฤติกรรมความรับผิดชอบการเข้าห้องเรียนของนักเรียน

โดยใช้วิธีการสอนแบบร่วมใจและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4   กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม รายวิชา ส31101         

 นัทกาญจน์ รัตนวิจิตร ผู้วิจัย

…………………………………………………………………………………………………………………………………….

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

          1. ปรับพฤติกรรมไม่เข้าเรียนของนักเรียนให้มีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นในรายวิชา ส31101

          2. ให้นักเรียนมีผลการเรียนในรายวิชา ส31101  ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้

          3. พัฒนาการเรียนการสอนในภาพรวม

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็น นักเรียนชั้น ม.4/3  จำนวน 38 คน ที่กำลังเรียนรายวิชา ส 31101 เครื่องมือในการวิจัยได้แก่  

1.แผนการเรียนการสอนแบบร่วมแรงร่วมใจ

2. การเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

3. แบบสังเกตพฤติกรรมความรับผิดชอบของนักเรียน ได้แก่ ความรับผิดชอบตรงต่อเวลา

การให้ความร่วมมือกับผู้อื่น การปฏิบัติตามกฎระเบียบ การทำงานที่ได้รับ มอบหมายจากครูผู้สอนและการทำงานที่ได้รับ

มอบหมายจากกลุ่ม

 4. แบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ การหาค่าเฉลี่ย

ผลลการวิจัยในครั้งนี้พบว่า

          นักเรียน มีความรับผิดชอบในการเรียน

          ทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จในทุกด้านดีขึ้นตามลำดับและในสัปดาห์ที่10

          นักเรียนทุกคนมีความรับผิดชอบดีทุกด้าน

          ผลการปรับพฤติกรรมในครั้งนี้ทำให้นักเรียนทุกคนสามารถทำแบบทดลองหลังหน่วยการเรียนทุกหน่วยผ่านเกณฑ์ที่กำหนดคือจาก 10 คะแนน นักเรียนสามารถทำได้ 8 คะแนนขึ้นไปถือว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น

 

1 ปัญหาและขอบเขตของปัญหา (What is the problem ?)

 ความเป็นมาของการวิจัย

          ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554  โรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา ผู้วิจัยได้รับผิดชอบสอนในรายวิชาพื้นฐาน สังคมศึกษา รหัส ส31101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ห้อง จำนวน 3 ห้อง จากการเรียนการสอนใน 4 สัปดาห์แรก 4 หน่วยการเรียน       ผู้วิจัยสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3  จำนวน 38 คน ในขณะที่ผู้วิจัยสอนบรรยายและสาธิตการสอนตามเนื้อหาในเอกสารประกอบการเรียนการสอนอยู่นั้น นักเรียนมีอาการง่วงนอน  มีสมาธิสั้น เมื่อ   มีการถามเนื้อหาที่สอนผ่านไปเมื่อต้นชั่วโมง  นักเรียนไม่สามารถตอบได้  และเมื่อให้ทำแบบทดสอบท้ายหน่วยก็ทำไม่ถูกต้องและบางส่วน ก็ไม่ส่งงานที่ได้มอบหมาย  โดยหลังจากการเรียน นักเรียนจะเข้าห้องเรียนช้าเกินกว่า 10 -15 นาที  และมี       นักเรียนที่ไม่เข้าห้องเรียน เมื่อทำการประเมินหลังหน่วยการเรียนรู้ก็ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้

 2. รูปแบบและเทคนิค วิธีการแก้ปัญหาหรือพัฒนา  (What is the action ?)

           จากพฤติกรรมการเรียนดังกล่าวผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ในฐานะที่เป็นครูผู้สอน จึงได้ทำการสังเกต สัมภาษณ์ และสอบถามนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อหาสาเหตุของการไม่เข้าเรียนของนักเรียน และนำเอาสาเหตุ มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาในครั้งนี้  ผู้วิจัยพบว่าควรปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน โดยการสอนแบบร่วมแรงร่วมใจ และการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

 วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการวิจัย

          1. เพื่อปรับพฤติกรรมไม่เข้าเรียนของนักเรียนและให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อการเรียนการสอนร่วมกัน

          2. เพื่อให้นักเรียนมีผลการเรียนในรายวิชา ส31101 ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้

          3. เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในภาพรวม

 วิธีการดำเนินการวิจัย

          กลุ่มเป้าหมาย  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3  จำนวน 38 คน

เครื่องมือในการวิจัย

          1. แผนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจ และการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

          2. แบบสังเกตพฤติกรรมความรับผิดชอบของนักเรียน ได้แก่ ความรับผิดขอบตรงต่อเวลาให้

ความร่วมมือกับผู้อื่น ปฏิบัติตามกฎระเบียบ การทำงานที่ได้รับ มอบหมายจากครูผู้สอนและการทำงานที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม

          3. แบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

ระยะเวลาดำเนินการสัปดาห์ที่ 5 ถึง สัปดาห์ที่ 10 ของภาคเรียนที่ 1/2554 รวม 5 สัปดาห์

 3. การนำรูปแบบเทคนิควิธีการแก้ปัญหาหรือพัฒนาไปใช้ในการแก้ปัญหา และผลที่เกิดขึ้น

(What is the result ?)

         การรวบรวมข้อมูล

          หลังจากผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3 ที่ไม่เข้าห้องเรียนช้า และไม่ตั้งใจเรียนในชั้นเรียนได้แล้ว  ผู้วิจัยได้เลือกวิธีการที่ให้นักเรียนร่วมมือกันทำงานและร่วมกันสอนกับครู  โดยใช้การเรียนการสอนแบบร่วมแรงร่วมใจและการเรียนอย่างเป็นระบบ โดยดำเนินการดังนี้

          1. ผู้วิจัยทำการศึกษาวิธีการเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจให้เข้าใจ

          2. อธิบายวิธีการเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจให้นักเรียนทั้งหมดได้รับรู้และทำความเข้าใจ

          3. ดำเนินการเรียนการสอนแบบร่วมแรงร่วมใจและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

                   3.1  แบ่งกลุ่มผู้เรียนตามความสมัครใจ เป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน แต่มีข้อแม้ว่า คนที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงกับต่ำ ในอัตราส่วนที่เหมาะสม และจะต้องเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม

                   3.2  ผู้สอนเตรียมหัวข้อที่ให้นักเรียนร่วมกันทำเป็นกลุ่ม นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทน

เลือกหัวข้อที่จะทำการศึกษา ปฏิบัติและทำรายงาน

                    3.3  ผู้สอนอธิบายงานของแต่ละหัวข้อว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง อธิบายถึงการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ทำงานตามขั้นตอนทีละขั้นตอน และผลของการมีส่วนร่วมในงานที่ได้รับมอบหมายจะได้สำเร็จไปด้วยดี

                    3.4 ผู้สอนบอกถึงผลที่จะได้รับจากการทำงานร่วมกันว่าทุกกิจกรรม ทุกขั้นตอนนั้นเป็นคะแนนส่วนหนึ่งที่จะนำมาประเมินผลการเรียน

                    3.5 ผู้สอนทำการตกลงกับนักเรียนว่า ก่อนมีการเรียนการสอนทุกครั้ง กลุ่มใดที่ทำงานในหัวข้อที่จะทำการเรียนการสอน นักเรียนทุกคนในกลุ่มจะต้องออกมานำเสนอผลงานในเรื่องนั้น ๆโดยใช้โปรแกรม powerpoint  เป็นการนำเข้าสู่บทเรียน และผู้สอนจะทำการสรุปอีกครั้งและเสริมส่วนที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อนักเรียนได้เข้าใจในเนื้อหายิ่งขึ้น

                    3.6 สร้างแบบสังเกตพฤติกรรมความรับผิดชอบของนักเรียนในแต่ละกลุ่ม

                    3.7 ติดตามสังเกตพฤติกรรมหลังปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน

          4. ดำเนินการแก้ไขเป็นรายบุคคลและเป็นรายกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์จากการสังเกตพฤติกรรมในแต่ละด้าน

                    4.1 ตรวจสอบประเมินเวลาเรียนและให้คะแนนการเข้าเรียน

                    4.2 ตรวจสอบประเมินงานทุกงานที่มอบหมายให้นักเรียนทำเป็นรายบุคคลและรายกลุ่มเป็น       คะแนน

                    4.3 ประเมินการแต่งกายของนักเรียนทุกครั้งที่มีการเรียนการสอน เหตุเพราะนักเรียนจะต้องมี    คุณลักษณะบุคลิกที่ดีเป็นพื้นฐาน ก่อนออกมานำเสนอผลงาน

                    4.4 เกณฑ์การประเมิน  ระดับ 4 ดีมาก ระดับ 3 ดี ระดับ 2 ปานกลาง ระดับ 1 พอใช้ ระดับ 0 ต้องปรับปรุง

          5. วิเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมและแยกตามรายบุคคลโดยใช้แบบถามตอบ

          6. สรุปผลการแก้ปัญหา

         การวิเคราะห์ข้อมูล

          การวัดผลและประเมินผลกิจกรรม/พฤติกรรม/ผลงานด้วยแบบสังเกตพฤติกรรมความรับผิด

ชอบของนักศึกษาเกณฑ์การให้คะแนน (แบบสังเกตพฤติกรรมความรับผิดชอบ) ความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา ให้ความร่วมมือกับผู้อื่น ปฏิบัติตามกฎระเบียบ การทำงานที่ไดัรับมอบหมายจากครูสอนและการทำงานที่ได้รับมอบหมาย

 

สรุปผลการวิจัย

          ภายหลังจากการปรับพฤติกรรมความรับผิดชอบในการเรียนรายวิชา ส31101 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3  จำนวน 38 คนโดยการสอนแบบร่วมแรงร่วมใจและการเรียนรู้อย่างมีระบบ พบว่า นักเรียนมีความรับผิดชอบในการเรียนและทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ ในทุกด้านดีขึ้นตามลำดับและในสัปดาห์ที่ 10 พบว่านักเรียนทุกคนมีความรับผิดชอบดีทุกด้าน มีบุคลิกภาพดีขึ้น ผลการปรับพฤติกรรมในครั้งนี้ทำให้นักเรียนทุกคนสามารถทำแบบทดสอบหลังหน่วยการเรียนทุกหน่วยผ่านเกณฑ์ที่กำหนด สรุปนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น 

 4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาและการพัฒนาในอนาคต (What is the next step ?)

          ข้อเสนอแนะ

          1. ควรมีการติดตามพฤติกรรมความรับผิดชอบในการเรียนของนักเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อสังเกตว่ามีผลต่อพฤติกรรมความรับผิดชอบของนักเรียนอย่างถาวรจนสิ้นสุดรายวิชา

          2.  เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อในรายวิชาอื่นๆต่อไป

         ขอรับรองว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้องและปฏิบัติจริงทุกประการ

                                                ลงชื่อ  นัทกาญจน์  รัตนวิจิตร ผู้วิจัย

                                               ครูเชี่ยวชาญ โรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา

                                                  วันที่ 31 ตุลาคม  พ.ศ.2554

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน พฤศจิกายน 3, 2011 นิ้ว Uncategorized

 

ใส่ความเห็น